• 1,830

ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะ”กัญชา” มีเงื่อนไขอยางไรบ้าง ตรวจสอบได้ที่นี่

รายงานข่าว เมื่อวันที่ 14 ก.ย.64 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. …

ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ สธ. รับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะ”กัญชา” รายละเอียด 18 ข้อ ดังนี้

  • ข้อ 1. กำหนดคำนิยามคำว่า “กัญชา” “ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์” “หน่วยงานของรัฐ” และ “รูปแบบพิเศษสำหรับการเข้าถึงยา”


  • ข้อ 2. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตผลิตกัญชาโดยการปลูก เพื่อใช้ทางการแพทย์ ต้องเป็น
    • (1) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ ในการให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ในการให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม
    • (2) สภากาชาดไทย
    • (3) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
    • (4) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม
    • (5) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นสหกรณ์การเกษตร
    • (6) ผู้ขออนุญาตอื่น ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันหรือผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนโบราณตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือผู้รับอนุญาตผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร


  • ข้อ 3. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตผลิตกัญชาโดยการปลูก เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศต้องเป็น
    • (1) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ ในการให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ในการให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม
    • (2) สภากาชาดไทย


  • ข้อ 4. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตผลิตยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่โดยการปรุงยาสำหรับคนไข้เฉพาะรายตามตำรับยาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เสพได้ ต้องเป็น
    • (1) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการให้บริการทางการแพทย์หรือเภสัชกรรมที่มีผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์
    • (2) สภากาชาดไทยที่มีผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยหรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์
    • (3) ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
    • (4) สถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
    • (5) ผู้ขออนุญาตอื่น ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และมีผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์


  • ข้อ 5. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตผลิตกัญชาที่มิใช่การปลูกหรือการปรุงยาสำหรับคนไข้เฉพาะรายเพื่อใช้ทางการแพทย์ ต้องเป็น
    • (1) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ ในการให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ในการให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม
    • (2) สภากาชาดไทย
    • (3) สถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
    • (4) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนซึ่งจดทะเบียน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
    • (5) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
    • (6) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
    • (7) ผู้ขออนุญาตอื่น เช่น
      • (ก) ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน หรือผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยา
      • (ข) ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนโบราณหรือผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนโบราณเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยา
      • (ค) ผู้รับอนุญาตผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือผู้รับอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร


  • ข้อ 6. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตนำเข้ากัญชา เพื่อใช้ทางการแพทย์ ต้องเป็น
    • (1) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ เภสัชศาสตร์วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ ในการให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ในการให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม
    • (2) สภากาชาดไทย
    • (3) สถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
    • (4) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน
    • (5) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม
    • (6) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นสหกรณ์การเกษตร
    • (7) ผู้ขออนุญาตอื่น เช่น
      • (ก) ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันหรือผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยา
      • (ข) ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนโบราณหรือผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนโบราณ เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยา
      • (ค) ผู้รับอนุญาตผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือผู้รับอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร


  • ข้อ 7. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตส่งออกกัญชา เพื่อใช้ทางการแพทย์ ต้องเป็น
    • (1) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ ในการให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ในการให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม
    • (2) สภากาชาดไทย
    • (3) สถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์
    • (4) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน
    • (5) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม
    • (6) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นสหกรณ์การเกษตร
    • (7) ผู้ขออนุญาตอื่น เช่น
      • (ก) ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันหรือผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยา
      • (ข) ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนโบราณหรือผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนโบราณเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยา
      • (ค) ผู้รับอนุญาตผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือผู้รับอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร


  • ข้อ 8. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตจำหน่ายกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ต้องเป็น
    • (1) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ ในการให้บริการทางการแพทย์เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ในการให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม
    • (2) สภากาชาดไทย
    • (3) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง
    • (4) ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์
    • (5) ผู้รับอนุญาตผลิตกัญชา
    • (6) ผู้รับอนุญาตนำเข้ากัญชา
    • (7) ผู้ขออนุญาตอื่น เช่น
      • (ก) ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลซึ่งมีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์
      • (ข) ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันซึ่งมีผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ
      • (ค) ผู้รับอนุญาตขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งมีผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยหรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ


  • ข้อ 9. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่เพื่อใช้ประจำในการปฐมพยาบาลหรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือหรือเครื่องบินซึ่งใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตพร้อมด้วยข้อมูลเอกสารหรือหลักฐาน ดังต่อไปนี้
    • (1) ชื่อ ชื่อสกุล และเลขประจำตัวประชาชน ในกรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้ขออนุญาต
    • (2) ชื่อและเลขทะเบียนนิติบุคคล ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต และหนังสือแสดงว่าผู้ขออนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล ซึ่งระบุเลขประจำตัวประชาชนของบุคคลดังกล่าวด้วย
    • (3) เอกสารแสดงการจดทะเบียนในราชอาณาจักร ซึ่งยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ
    • (4) คำยินยอมให้ผู้อนุญาตเข้าถึงข้อมูลตาม (1) หรือ (2) เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ


  • ข้อ 10. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายกัญชาได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งกัญชา


  • ข้อ 11. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งกัญชาเพื่อการศึกษา ต้องเป็น
    • (1) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ ในการให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ในการให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรมในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
    • (2) สภากาชาดไทย
    • (3) สถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์


  • ข้อ 12. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตนำยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องเป็นผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องนำยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัวในปริมาณเท่าที่จำเป็นสำหรับการใช้รักษาไม่เกินเก้าสิบวัน
    การนำยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ซึ่งเหลือจากปริมาณที่ได้รับอนุญาตติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรสำหรับการเดินทางในครั้งนั้น ไม่ต้องขออนุญาตอีก


  • ข้อ 13. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตซึ่งประสงค์จะขออนุญาตนำยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันที่นำยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่เข้ามาในราชอาณาจักรในแต่ละครั้ง พร้อมด้วยใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา
    กรณีผู้ขออนุญาตซึ่งประสงค์จะขออนุญาตนำยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ติดตัวออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ก่อนวันที่นำยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ออกไปนอกราชอาณาจักรในแต่ละครั้ง พร้อมด้วยใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา ใบสั่งยาหรือหนังสือรับรอง ต้องระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ป่วย การวินิจฉัยโรคหรืออาการของผู้ป่วย ชื่อและรูปแบบของยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ขนาดที่ใช้ และจำนวนหรือปริมาณที่ผู้ประกอบวิชาชีพสั่ง รวมทั้งชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าว


  • ข้อ 14. กำหนดให้การยื่นคำขอ การอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้การดำเนินการดังกล่าวกระทำ ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้
    • (1) กรณีผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งกัญชา
      • (ก) ในกรุงเทพมหานคร ให้กระทำ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สธ.
      • (ข) ในจังหวัดอื่น ให้กระทำ ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งท้องที่ที่สถานที่ผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งกัญชาตั้งอยู่
    • (2) กรณีนำเข้า หรือส่งออกซึ่งกัญชา ให้กระทำ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สธ. หรือสถานที่อื่นที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา    


  • ข้อ 15. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิตกัญชาโดยการปลูกปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
    • (1) จัดเตรียมสถานที่และควบคุมการปลูกตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
    • (2) จัดให้มีป้ายแสดงไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ที่ได้รับอนุญาต โดยเป็นป้ายที่ทำจากวัตถุถาวร และมีข้อความเป็นตัวอักษรไทยที่มีขนาดเหมาะสม ระบุว่าเป็นสถานที่ผลิตกัญชา แสดงเลขที่ใบอนุญาต ชื่อผู้รับอนุญาต และเวลาสิ้นสุดการอนุญาตตามใบอนุญาต
    • (3) ใช้เมล็ดพันธุ์ เนื้อเยื่อ หรือส่วนอื่นที่ใช้เพาะปลูกหรือใช้ทำพันธุ์ได้ ที่ได้รับอนุญาตในการปลูกทุกครั้ง
    • (4) ปลูกกัญชาในสถานที่และพิกัดตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และจัดทำแนวเขตพื้นที่การเพาะปลูกที่มีความมั่นคงแข็งแรงและเห็นได้ชัด
    • (5) ดำเนินการตามแผนการผลิต ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนการผลิตได้ ให้แจ้งขอปรับแผนการผลิตต่อผู้อนุญาตเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏว่าไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ทั้งนี้ การขอปรับแผนการผลิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
    • (6) จัดให้มีการแยกเก็บกัญชาเป็นสัดส่วนจากยาหรือวัตถุอื่น และเก็บในที่ซึ่งมั่นคงแข็งแรงและมีกุญแจใส่ไว้ หรือเครื่องป้องกันอย่างอื่นที่มีสภาพเท่าเทียมกัน
    • (7) ในกรณีที่กัญชาถูกโจรกรรม สูญหาย หรือถูกทำลาย ต้องแจ้งเป็นหนังสือ ให้ผู้อนุญาตทราบโดยมิชักช้า
    • (8) ในระหว่างการปลูก หากผู้รับอนุญาตผลิตโดยการปลูกหรือผู้รับอนุญาตซึ่งเป็นผู้รับผลผลิตจากผู้รับอนุญาตผลิตโดยการปลูกตรวจพบปริมาณสารปนเปื้อน โลหะหนัก หรือสารอื่น ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเกินมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนดให้ดำเนินการทำลาย โดยแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมการทำลาย การทำลายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา


  • ข้อ 16. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิตหรือผู้รับอนุญาตนำเข้ายาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ต้องนำตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่นั้นมาขอรับรองตำรับก่อน และเมื่อได้รับใบสำคัญการรับรองตำรับยาแล้วจึงจะผลิตหรือนำเข้าได้


  • ข้อ 17. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตผลิตยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ เพื่อใช้ในรูปแบบพิเศษสำหรับการเข้าถึงยา ต้องเป็น
    • (1) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ให้บริการทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม
    • (2) สภากาชาดไทย


  • ข้อ 18. กำหนดให้บรรดาคำขอรับหนังสือสำคัญและคำขอรับใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการอนุญาตตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 พ.ศ. 2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกัญชาที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของผู้อนุญาตให้ถือว่าเป็นคำขอรับใบอนุญาตหรือคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ด้วยโดยอนุโลม

ในกรณีที่คำขอดังกล่าวมีข้อความแตกต่างไปจากคำขอตามกฎกระทรวงนี้ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมและให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามกฎกระทรวงนี้


ที่มา: https://www.komchadluek.net/news/483704?adz=


Cann Society - Thailand