- Cann Society News
-
by ADMIN BKK
สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TIHTA) เดินหน้าสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชงไทยตอบโจทย์ 14 อุตสาหกรรมศักยภาพ ด้านพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ชี้กัญชงเป็นโอกาสเติบโตของเศรษฐกิจไทย แนะเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มหนุนอุตสาหกรรมกัญชงไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมจับมือ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) ต่อยอดอุตสาหกรรมกัญชงเพื่อเป็นศูนย์กลางของเอเชียผ่านการจัดงาน ‘Asia International Hemp Expo and Forum 2023‘ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Growing Industries Together สร้างจุดเชื่อมโยงตลาดกัญชงไทยสู่ตลาดโลก เตรียมจัดงาน 22-25 พ.ย. นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมกัญชงไทยในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2565 ที่มีการปลดล็อคพืชกัญชง ‘สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย’ หรือ TIHTA ได้สร้างเครือข่ายของอุตสาหกรรมกัญชงและการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันพร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงไทยให้มีความแข็งแรงตั้งแต่เกษตรกรต้นน้ำ ผู้ประกอบการด้านแปรรูป และผู้ผลิต รวมไปถึงการสร้างแนวทางให้กัญชงไทยตอบโจทย์ตลาดอุตสาหกรรมกัญชงโลกให้ได้มากที่สุด
อุตสาหกรรมกัญชงไทยถือว่ามีความแข็งแรงและมีการขับเคลื่อนรวมถึงการวางมาตรฐานของอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 2564 ครอบคลุม 6 มาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรมกัญชง คือ
- น้ำมันเมล็ดกัญชง
- สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD รวม ไม่น้อยกว่า 30%
- สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD รวม ไม่น้อยกว่า 80%
- เปลือกกัญชง
- แกนกัญชง
- เส้นใยกัญชง
ทั้งนี้เพื่อนำมาเป็นมาตรฐานของการนำวัตถุดิบจากกัญชงมาใช้ในแต่ละประเภทอุตสาหกรรม จนปัจจุบันมีการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับพืชกัญชงมากถึง 14 ประเภทอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ อาหารเครื่องดื่ม อาหารเสริม เครื่องสำอาง เวชสำอาง ยานยนตร์ วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
ขณะที่การเติบโตของอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพืชกัญชงของไทยในช่วงปีที่ผ่านมา มีการเติบโตตามกรอบของระเบียบและกฎหมายการรับรอง ทั้งในแง่ของ ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอันได้แก่ การปลูก การสกัด และผลิตภัณฑ์ โดยข้อมูลจากแอปพลิเคชันปลูกกัญชงมีการลงทะเบียนการปลูกกว่า 1.1 ล้านคน และข้อมูลจากองค์การอาหารและยา และกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกมีพื้นที่การปลูกมากถึง 11,348,882 ตรม. สำหรับใบอนุญาตผู้สกัดสารสำคัญจำนวนทั้งสิ้น 89 แห่ง โดยแบ่งเป็นใบอนุญาตสกัดกัญชา 41 แห่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐทั้งหมด และใบอนุญาตสกัดกัญชง 48 แห่ง โดยมีเอกชน 39 ราย และหน่วยงานรัฐ 9 ราย สำหรับผลิตภัณฑ์ด้านปลายน้ำ อ้างอิงจากระบบสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีกัญชงและกัญชาเป็นส่วนประกอบ ของคณะกรรมการอาหารและยา มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับคณะกรรมการอาหารและยากว่า 1,000 รายการ ซึ่งแบ่งเป็นเครื่องสำอาง 77% อาหารและอาหารเสริม 19% และผลิตภัณฑ์สมุนไพร 4% นอกจากนี้ด้านมูลค่าตลาดข้อมูลจาก Euromonitor มูลค่าทางการตลาดกัญชงและกัญชาของประเทศไทยในปี 2565 มีมูลค่า 8,482 ล้านบาท และคาดการณ์เติบโตในปี 2570 จะมีมูลค่า 73,447 ล้านบาท
“ทางสมาคมฯทำงานร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด มองว่าอุตสาหกรรมกัญชงเป็นโอกาสของประเทศ โดยให้ผู้ประกอบการเน้นหนักไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะหากทุกคนมุ่งไปสู่การปลูกเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายก็จะเกิดการแย่งกันขายและตัดราคากันในที่สุด ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มได้เลย ยกตัวอย่างเช่น การนำสารสกัดจากัญชงไปเป็นส่วนผสมในยาหม่องสมุนไพรที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย มูลค่าตลาดระดับพันล้านบาท นี่คือส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กัญชงได้ มากกว่าการมุ่งเน้นเพียงแค่การปลูก ฉะนั้นผู้ประกอบการควรศึกษา พัฒนาองค์ความรู้ และนำกัญชงไปต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม จะเป็นสิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมกัญชงยังตอบโจทย์ในด้านความยั่งยืนของ Sustainable Development Goal (SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations/ UN) ทั้งในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ด้านพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ ด้านสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และด้านการเสริมความเข้มแข็งของความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
พรชัย กล่าว
สำหรับ Asia International Hemp Expo and Forum 2023 ภายใต้แนวคิด การต่อยอดสู่เป้าหมาย ‘Growing Industries Together’ ในปีนี้มีการเชื่อมโยงและทำความร่วมมือกันอย่างชัดเจนทั้งในและต่างประเทศที่พร้อมเชื่อมโยงและ ปรับบริบททางธุรกิจให้ตรงกับสภาวะปัจจุบัน ตรงกับผู้บริโภคและความต้องการในตลาดนี้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ทั่วโลก มีปัจจัยหลักคือการผลักดันให้เกิดกระบวนการธุรกิจในเชิงสิ่งแวดล้อม หรือ การสร้าง Sustainability ในธุรกิจ โดยพืชตระกูลกัญชงนับเป็นทางเลือกที่มีความโดดเด่นในด้านการนำมาพัฒนาได้ทุกส่วน ตลอดจนสารสกัดที่สามารถนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในเชิงการแพทย์ Wellness และต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อย่างครบวงจร อีกทั้งยังเป็นโอกาสของเส้นใยหรือไฟเบอร์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตเส้นใยที่มีคุณภาพที่ดีเพื่อแข่งขันในระดับโลก โดยประเทศที่ใช้เส้นใยกัญชงในการผลิตสินค้า ฉนวนกันความร้อน ผนังกันเสียง วัสดุก่อสร้างต่างๆ และส่วนประกอบยานยนต์ ไปจนถึงพลังงานสะอาดจากกัญชง ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ และ พลังงานชีวมวล (Biomass) ซึ่งเกษตรกรต้นน้ำและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมกัญชงของไทยทั้งที่เป็นสมาชิกสมาคมและรายอื่นๆ ได้มีเวทีในการโชว์ศักยภาพและเปิดโอกาสให้เห็นคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้อ้างอิงข้อมูลจาก Fortune Business Insights มูลค่าของตลาดเส้นใยกัญชงในปี 2565 อยู่ที่ 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 31,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันยุโรปครองส่วนแบ่งตลาดเส้นใยกัญชงมากที่รองลงมาสหรัฐอเมริกา โดยประเทศที่มีพื้นที่การเพาะปลูกเส้นใยกัญชงมากที่สุดคือ จีน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา
นายสุรพล อุทินทุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) เปิดเผยว่า งาน Asia International Hemp Expo and Forum 2023 ถือเป็นงานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์กัญชงนานาชาติ งานแรกของเอเชียที่เป็นจุดเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจของนักอุตสาหกรรมในวงการจากทั่วโลก สำหรับปีที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าชมงานจากกว่า 80 ชาติ สร้างมูลค่าการซื้อขายจากการจัดงานกว่า 5,500 ล้านบาท จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานตั้งแต่ต้นน้ำการปลูก กลุ่มวัตถุดิบ การแปรรูป ไปถึงปลายน้ำที่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย ภายใต้มาตรฐานการคัดกรองสินค้าที่มุ่งเน้นภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการแพทย์โดยเฉพาะ และในปีนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 10,000 คน มูลค่าเงินหมุนเวียนในงานไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท
สำหรับการจัดงาน Asia International Hemp Expo and Forum 2023 จะนำเสนอเทคโนโลยีและโซลูชั่นใน 14 อุตสาหกรรมหลัก โดยยึดหลักกระบวนการผลิตตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อเกื้อกูลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการเจรจาเพื่อเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย และนักลงทุนจากนานาชาติ ในฐานะศูนย์กลางของอุตสาหกรรมกัญชงของภูมิภาค นอกจากนี้ ภายในงานจะมี Showcase ทุกประเภทอุตสาหกรรม รวมถึงการนำมาใช้ในเชิงวัฒนธรรม งานหัตถศิลป์ที่สร้างเป็นผลงานต่อยอด ยกระดับของเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม สู่การสร้างชิ้นงานศิลป์ในโซน ‘Hemp for Living’ โดยศิลปินของไทยที่ชื่อเสียงระดับโลก ทำให้กัญชงไทยสามารถสร้างแรงบันดาลใจและแรงผลักดันที่จะก่อให้เกิดการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจได้อีกส่วนหนึ่ง
นอกจากนั้นในปีนี้มีการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในการเสวนาเชิงวิชาการส่วนของ International Hemp Forum โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญกว่า 12 ประเทศในแต่ละประเภทอุตสาหกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับพืชเศรษฐกิจนี้มาร่วมให้ข้อมูลและประสบการณ์แบบจัดเต็มครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจกัญชง ที่สำคัญในงานครั้งนี้ เรามีการจัดสรรพื้นที่พิเศษสำหรับผู้ร่วมแสดงสินค้า นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ รวมถึงนักลงทุนที่เข้าชมงาน ได้มาพบปะและเจรจาธุรกิจกันในช่วงเย็นของทุกวันในบรรยากาศ business leisure ในโซน ‘At 6’ Networking Zone ภายในงาน ‘Asia International Hemp Expo and Forum 2023’ ทั้งนี้กำหนดจัดงาน วันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
PRE-REGISTER : https://asiahempexpo.eventpassinsight.co/en