• 1,473

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง 2565 ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ (กมธ.) พิจารณาแปรญัตติ เพื่อใช้เป็นกฎหมายควบคุมการปลดล็อกกัญชาในช่วง “สุญญากาศ” ถูกที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติให้ถอนออกจากระเบียบวาระการประชุมในการพิจารณาวาระ 2 เมื่อ 14 ก.ย. ทำให้ขณะนี้ ประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะที่ไม่มีกฎหมายเฉพาะควบคุมการใช้กัญชาต่อไปอีกระยะหนึ่ง

หลังจากนั้นจากกระแสความกังวลจากหลายฝ่ายที่ว่าการปลดล็อกดังกล่าว ไม่มีกฎหมายเฉพาะขึ้นมาควบคุมการใช้งานกัญชา ซึ่งเกี่ยวพันกับหลายมิติ เช่น ด้านสุขภาพ ผลกระทบต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน

สรุปเนื้อหา พ.ร.บ. กัญชาใหม่ 2565 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.กัญชาใหม่ 2565 ฉบับ กมธ. ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎร มีบทบัญญัติเรื่องการอนุญาต การจดแจ้ง การผลิต การปลูก รวมไปถึง การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัดและการป้องกันการใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัดในทางที่ผิด รวมไปถึงบทลงโทษทั้งปรับและจำคุก รวมทั้งสิ้น 46 มาตรา

เนื้อหาที่สำคัญ โดยสรุปบางมาตราในร่างพระราชบัญญัติ ได้แก่

1. ผู้ที่เพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง หรือผลิต นําเข้า ส่งออก หรือขายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต (มาตรา 15) และใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี (มาตรา 17)

2. ผู้ใดเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชงโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งมีขนาดพื้นที่เพาะปลูกแตกต่างกันไป 3 ขนาด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

3. ผู้ใดนําเข้ากัญชา กัญชง หรือสารสกัด โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

4. ปลูกกัญชา /กัญชง ในครัวเรือนได้ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ต้น (มาตรา 18) ต้องจดแจ้งจากผู้รับจดแจ้ง ใบรับจดแจ้งมีอายุ 1 ปี (มาตรา 20)

5. ห้ามโฆษณาหรือทําการสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับช่อดอกหรือยางของกัญชา สารสกัด หรือเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต (มาตรา 28)

6. การโฆษณาหรือการสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงที่ไม่ใช่กรณีต้องห้าม ต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม (มาตรา 30/1)

7. ห้ามขายกัญชา กัญชง ทั้งการนำไปบริโภคเป็นสารสกัดหรืออาหารที่มีกัญชา หรือสารสกัดเป็นส่วนประกอบหรือวัตถุดิบ กับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร บุคคลอื่นใดตามที่ รมว. สาธารณสุขประกาศกําหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ (มาตรา 37)
***ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 37 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ***

8. ห้ามขายช่อดอก ยาง สารสกัดจากกัญชา/กัญชงเพื่อการสูบ ด้วยเครื่องขายอัตโนมัติ, ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์, ห้ามแถมกับสินค้าอื่น, ห้ามเร่ขาย, ชิงโชคหรือชิงรางวัล, ห้ามแสดงราคา ณ จุดขายในลักษณะจูงใจให้บริโภคช่อดอกหรือยางของกัญชาหรือกัญชง หรือสารสกัด (มาตรา 37/1)

***หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 60,000-100,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ***

9. ห้ามขายกัญชาในวัดหรือสถานที่สําหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา, สถานศึกษา, หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก, สวนสาธารณะ สวนสัตว์และสวนสนุก, สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ (มาตรา 37/2)

10. ห้ามขายอาหารที่มีกัญชา/ กัญชงเป็นส่วนประกอบหรือวัตถุดิบในสถานศึกษา (มาตรา 37/3)

11. ห้ามผู้ใดสูบกัญชา กัญชง หรือสารสกัดในสถานที่สาธารณะและสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้ ได้แก่ วัด สถานบริการสาธารณสุขทั้งของรัฐเว้นแต่บริเวณที่จัดให้ผู้ป่วย ร้านขายยา สถานที่ราชการเว้นแต่บริเวณที่พักส่วนบุคคล สถานศึกษาเว้นแต่เพื่อการเรียน สถานีบริการน้ำมัน สวนสาธารณะ สวนสนุก ร้านอาหาร และยานพาหนะ (มาตรา 37/4)

***ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 37/3 และ มาตรา 37/4 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท***

12. ห้ามผู้ใดขับขี่ยานพาหนะในขณะมึนเมากัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารตามกฎหมาย (มาตรา 37/7) เจ้าหน้าที่สั่งให้หยุดขับขี่ และทดสอบระดับความมึนเมาได้

***ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 37/2 และ มาตรา 37/7 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ***

ขอบคุณข้อมูลจาก สภาผู้แทนราษฎร / BBC

credit : thethaiger


Cann Society - Thailand