- Cann Society News
-
by ADMIN BKK
อนุทิน โต้อภิปรายไม่ไว้วางใจกลางสภา ปมกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์ ชี้มีกฎหมายรองรับทุกด้าน ไม่ขัดกับกฎหมาย UN ระบุคนป่วยที่ต้องใช้รอไม่ได้
“อนุทิน” ชี้แจงสภา ปมกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์ ย้ำนโยบายไม่ขัดกฎหมายยูเอ็น
เมื่อวานนี้ (19 ก.ค. 65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวชี้แจงระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในประเด็นความกังวลเรื่องนโยบายกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์ โดยระบุว่า นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์นั้น ได้เดินหน้ามาอย่างรอบคอบ นโยบายกัญชาของรัฐบาล ไม่ขัดหรือแย้ง กับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งอนุญาตให้นำกัญชา มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ที่สำคัญ ในฐานะที่ประเทศไทย มีประวัติศาสตร์การใช้กัญชารักษาโรคมายาวนาน จึงต้องมั่นใจในภูมิปัญญาของเรา ซึ่งกัญชาอยู่ในตำรับยา ตำรับยาหลวง และวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน ก่อนจะถูกตีตราเป็นยาเสพติด
กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการศึกษาวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ มาตั้งแต่ปี 2561 และ กรมการแพทย์ ได้จัดอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นโยบายนี้ เป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคของประชาชน และ ลดการนำเข้ายาเคมีจากต่างประเทศได้
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า มีความกังวลกันมากเรื่องควบคุมการใช้กัญชา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาควบคุมดูแล ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
1. ด้านการควบคุมการเข้าถึงของเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง ได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 โดยกํากับให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่สามารถครอบครองกัญชา รวมถึงห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร
2. ด้านการควบคุมการใช้ผิดวัตถุประสงค์ก่อให้เกิดกลิ่น และควันกัญชา ได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กําหนดให้การกระทําให้เกิด กลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรําคาญ พ.ศ. 2565 และคณะกรรมการสาธารณสุข ได้ออกคําแนะนําของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางการควบคุมเหตุรําคาญจากการกระทําให้เกิดกลิ่น หรือ ควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด พ.ศ. 2565
3. ด้านการควบคุมการใช้ในอาหารปรุงสําเร็จ ได้มีการออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนําใบกัญชามาใช้ ในการทํา ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 และประกาศกรม อนามัย เรื่อง การนําใบกัญชามาใช้ในการทํา ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการ อาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการกำกับให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องจัดเก็บใบกัญชาอย่างถูกสุขลักษณะ ดำเนินการตามประกาศในการจำกัดสัดส่วนการใช้ใบกัญชาประกอบอาหาร และต้องติดประกาศแจ้งให้ลูกค้าทราบว่า มีการใช้ใบกัญชาในการประกอบอาหาร รวมถึงแจกแจงรายละเอียดพร้อมคำแนะนำ และคำเตือนตามประกาศด้วย
นอกจากนี้ ยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2564 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีรายละเอียดระบุให้ “ช่อดอก” กัญชาและกัญชง เป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และห้ามใช้ส่วนของพืชดังกล่าวในอาหารอีกด้วย กฎหมายเหล่านี้มีโทษทางอาญา ตั้งแต่ปรับ ถึงจำคุก
สำหรับส่วนของการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยา หรือเครื่องสำอางนั้น มีกฎหมาย และมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์อย่างครบถ้วนตามปกติมาตรฐานอุตสาหกรรม และจะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ภายใต้กำกับขององค์การอาหารและยา อยู่แล้วครับ ขอเชิญชวนให้เข้าไปในเว็บไซต์หรือแอปลิเคชัน “ปลูกกัญ” ซึ่งนอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ “การจดแจ้งการปลูกกัญชา” แล้ว ก็ยังมีข้อมูล คำแนะนำ รายละเอียดข้อกฎหมายต่างๆ ทั้งสำหรับประชาชน และผู้ประกอบการ ปัจจุบันมีประชาชนเข้าไปรับข้อมูลกันแล้วกว่า 40 ล้านครั้ง
โดยนายอนุทินย้ำว่า สิ่งที่ได้กล่าวถึงมาทั้งหมด เป็นสิ่งที่รอไม่ได้ เพราะมีคนป่วยรอรักษาตัว ผู้ประกอบการเตรียมเดินหน้า สร้างงาน สร้างรายได้ เศรษฐกิจประเทศรอฟื้นตัว การมีนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ไม่ได้ทำให้คนที่อยากใช้ในทางที่ผิดมีมากขึ้น แต่เปิดโอกาสให้คนที่อยากใช้ประโยชน์ เข้าถึงได้มากขึ้น มีการควบคุมเยาวชนและกลุ่มเสี่ยงตามกฎหมาย ทำให้พวกค้าขายใต้ดินหากินยากขึ้น