• 587

‘ปานเทพ’ ย้ำคนไทย 18.8 ล้านคน เคยใช้กัญชาแล้ว จะแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นจาก ‘ยอมรับข้อเท็จจริง’

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข

โพสต์ Facebook ส่วนตัว เรื่องคนไทย 18.8 ล้านคน เคยใช้กัญชาแล้ว จะแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นจาก “ยอมรับข้อเท็จจริง” โดยมีเนื้อหาดังนี้

จากผลสำรวจของนิด้าโพลระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน ที่ระบุว่ามีประชาชนมากถึง 32.98% เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชามาแล้ว หากผลสำรวจถูกต้องแม่นย้ำ ก็อาจจะประมาณการได้ว่ามีคนไทยเคยใช้กัญชามาแล้วว่า 18.8 ล้านคนในประเทศไทยโดยในจำนวน 18.8 ล้านคนนี้

1.) 60.65% หรือประมาณ 11.4 ล้านคนระบุว่า เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาในเรื่องการใช้กัญชา เพื่อประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม

2.) 30.56% หรือประมาณ 6.69 ล้านคนระบุว่า เคยใช้เพื่อการเสพหรือสูบกัญชา

3.) 21.06% หรือประมาณ 3.96 ล้านคนระบุว่า เคยใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค

4.) 6.94% หรือประมาณ 1.3 ล้านคนระบุว่า เคยปลูกกัญชา

ผลการสำรวจของนิด้าโพลที่มีผู้ที่มีประสบการณ์ในการใช้กัญชาทางการแพทย์นั้น มากกว่าโครงการวิจัย ศึกษาสถานการณ์ใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย (ระยะที่ 1) ช่วงปี พ.ศ. 2562-2563 ที่ว่า

ประมาณการจำนวนผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย พบว่ามีประมาณ 442,756 หรือประมาณ 864 คน ต่อ ประชากร แสนคนโดยที่ภาคกลางเป็นภาคที่มีความชุกของผู้ใช้กัญชาการแพทย์สูงที่สุดที่ 1,440 ต่อประชากรแสนคน ตาม ด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่ 622 494 และ 492 คนต่อประชากรแสนคนตามลำดับ

“ผู้ใช้กัญชาการแพทย์จำนวนมาก ที่ได้รับกัญชาทางการแพทย์จากตลาดมืด ( 54.5% สำหรับทั่วประเทศ และภาคกลางกับภาคใต้สัดส่วนสูงถึง 77.8 และ 80.4 ตามลำดับ) ซึ่งหมายความว่ากัญชาในระบบบริการของกระทรวง สาธารณสุขนั้นเข้าถึงยากกว่ากัญชาจากภายนอก”

หากการสำรวจของนิด้าโพลถูกต้องอาจแปลว่ามีผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อรักษาโรคมากถึง 3.96 ล้านคน มากยิ่งกว่าการสำรวจของ โครงการวิจัย ศึกษาสถานการณ์ใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย (ระยะที่ 1) ช่วงปี พ.ศ. 2562-2563 ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคส่วนใหญ่ยังต้องใช้กัญชาใต้ดินเป็นจำนวนมาก ใครโชคร้ายก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม หรือรีดไถ

อย่างไรก็ตามกัญชาใต้ดินเกือบทั้งหมดปนเปื้อนด้วยสารพิษยาฆ่าแมลงและโลหะหนัก และผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองในเรื่องคุณภาพและราคา ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคยังไม่สามารถเข้าถึงกัญชาได้ ทำให้ต้องไปใช้น้ำมันกัญชาใต้ดิน ตรงกันข้ามกับสถานการณ์ในสถานพยาบาลภาครัฐที่ยังมีการจำหน่ายกัญชาให้คนไข้ได้น้อยมาก
โดยในช่วงที่ผ่านมาน้ำมันกัญชาของภาครัฐส่วนใหญ่ที่จ่ายโดยแพทย์แผนปัจจุบันกลับหมดอายุไปครึ่งหนึ่งเพราะไม่ได้มีการจ่ายน้ำกัญชาให้กับคนไข้ได้ตามที่ต้องการ

ดังนั้นจำนวนผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อรักษาโรคมากถึง 3.96 ล้านคนเป็นกลุ่มคนที่ทอดทิ้งไม่ได้ โดยเฉพาะในคนกลุ่มนี้จำนวนมากได้จดแจ้งในการขอปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนหรือเพื่อรักษาตัวเองแล้วเช่นกัน

สำหรับสังคมไทยประชาชนส่วนใหญ่ใช้กัญชาใต้ดินเพื่อประกอบอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 11.4 ล้านคน ซึ่งหากมีการทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชึ้นทะเบียบกับองค์การอาหารและยา (อ.ย.) ก็เชื่อได้ว่าจะมีความปลอดภัยสูงมากอย่างแน่นอน โดยมีตัวอย่างดังนี้

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 ออกความตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ยังไม่ให้ช่อดอกกัญชาและกัญชงมาเป็นส่วนผสมในอาหาร

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 425 ออกความตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2565 มีสาร THC ต่ำกว่า 0.2% อย่างแน่นอน โดยกำหนดให้ เมล็ดกัญชงมี THC ได้ไม่เกิน0.0005% , น้ำมันกัญชงมี THC ได้ไม่เกิน 0.0001% , โปรตีนจากเมล็ดและกากเมล็ดกัญชงมี THC ได้ไม่เกิน 0.0002% และโปรตีนเข้มข้นหรือโปรตีนสกัดจากกัญชงมี THC ได้ไม่เกิน 0.000015

นอกจากนั้นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 425 ยังได้กำหนดอาหารจากกัญชงอีกหลายชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์ธัญชาติสำหรับอาหารเช้า, ผลิตภัณฑ์ขนมอบทั้งหวานและไม่หวาน, เครื่องดื่มธัญชาติ, ขนมขบเคี้ยว, สลัดแซนวิช กำหนดให้มีสาร THC ได้ไม่เกิน 0.000015 หรือ 0.15 ส่วน ในล้านส่วน

นอกจากนี้ก็ยังมีประกาศกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการร้านอาหารติดป้ายหน้าร้าน แจ้งเอาไว้ในเมนู จำนวนที่ในการใช้ใบกัญชาหรือกัญชงในการปรุงอาหารไม่เกิน 2 ใบ พร้อมคำเตือนในการรับประทานอยู่แล้ว ซึ่งก็ยังอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัย

โดยเฉพาะหากมีการใช้ใบสดที่ไม่ผ่านความร้อน และไม่มีตัวทำละลายด้วยไขมัน เช่น เป็นชา ก็ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและไม่เมา เพราะสาร THC จะยังไม่กลายสภาพจากสาร THCA

สำหรับคนที่เคยรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมจำนวน 18.8 ล้านคนนั้น เมื่อเทียบเคียงจากพฤติกรรมการสำรวจอีสานโพลระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2565 เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ประมาณ 91.5% ของคนกลุ่มนี้ จะแค่อยากลองไม่กี่ครั้งหรือกินตามโอกาสต่างๆเท่านั้น จะเหลือคนที่มีความคิดจะกินบ่อยหรือกินประจำประมาณ 1.59 ล้านคนเท่านั้น และส่วนใหญ่ถ้าจะเป็นคนที่กินประจำย่อมรู้ปริมาณและวิธีการบริโภคของตัวเองอยู่แล้ว

ส่วนที่มีการกระทำผิดกฎหมายตามที่ปรากฏเป็นข่าว เช่น การที่มีเด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ไปรับประทานอาหารที่ใส่ช่อดอกกัญชา นั้น ไม่ได้แปลว่าบ้านเมืองไร้ขื่อแป หากแต่เจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องทำการจับกุมผู้จำหน่ายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่างหาก เพราะถึงแม้จะมีการตราพระราชกำหนดแล้วเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย ก็ไม่สามารถจัดการลงโทษผู้กระทำผิดกกฎหมายได้อยู่ดี

แต่นอกเหนือจากกฎหมายแล้ว ยังมีกฎธรรมชาติของกัญชาที่ว่า การใส่กัญชาในการรรับประทานออกฤทธิ์แรงกว่าการสูบ 3-7 เท่าตัว แต่รู้ตัวช้ากว่าการสูบ หากใส่เกินพอดีหรือมากเกินไป เมื่อเกิดอาการเมากลับไม่ได้มีความสุข แต่กลับเกิดอาการที่หวาดวิตก ความดันตก หัวใจเต้นเร็ว หรือแม้แต่เห็นภาพหลอน จนบางคนต้องนำตัวส่งเข้าโรงพยาบาล
ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้บริโภคของคนกลุ่มเหล่านี้จะเข็ดขยาดไม่กลับไปรับประทานกัญชาอีก หรือไม่รับประทานกัญชาร้านนั้นอีก ส่วนผู้ที่ขายกัญชาที่ใส่กัญชาเกินที่กฎหมายกำหนดนอกจากจะต้องเสี่ยงถูกดำเนินคดีความแล้ว ยังจะต้องเสียชื่อเสียงและเสียลูกค้าไม่สามารถสร้างความร่ำรวยได้อีกต่อไปด้วยเช่นกัน

ส่วนประชาชน ที่ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคอีกประมาณ 3.96 ล้านคนนั้น น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดในช่วงเวลานี้มากขึ้น เพราะเมื่อกฎหมายปลดล็อกมากขึ้นแล้ว นอกจากจะสามารถปลูกกัญชาเพื่อเป็นยารักษาที่บ้านแทนการเสียเงินซื้อน้ำมันกัญชาใต้ดินที่มีอันตรายและแพงแล้ว ยังสามารถรับบริการคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนที่เดิมมีใบอนุญาตจำหน่าย แต่ไม่มีผลิตภัณฑ์กัญชา ก็สามารถจ่ายยากัญชาได้มากขึ้นและปลอดภัยมากขึ้นในช่วงสุญญากาศทางกฎหมายนี้


ส่วนสายเขียวนักสูบ อีกจำนวน 6.69 ล้านคนนั้น เมื่อเทียบเคียงจากพฤติกรรมการสำรวจอีสานโพลระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2565 พบว่าหากพิจารณาเฉพาะประชาชนในกลุ่มที่คิดจะสูบหรือเสพนี้ส่วนใหญ่มีความคิดที่จะสูบตามโอกาสต่างๆ 32.02% หรือจะลองไม่กี่ครั้ง 57.40% โดยจะมีประชาชนในกลุ่มนี้ที่คิดจะสูบเป็นประจำประมาณ 10.57% หรือประมาณ 7 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนที่สูบอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามแม้จะมีเสียงเรียกร้องในเรื่องการสูบเพื่อนันทนาการหรือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ด้วยวัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการส่งเสริมกัญชา เพื่อทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพ และเศรษฐกิจเท่านั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการสูบกัญชาที่มีสารพิษจากการเผาไหม้และก่อให้เกิดโทษต่อระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบในที่สาธารณะ เพราะด้วยเหตุที่ว่ามีกลิ่นและควันความรำคาญให้กับผู้อื่น

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ให้กลิ่นและควันเป็นสิ่งที่รำคาญ ตามมาด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ที่สูบในที่สาธารณะ ห้ามจำหน่ายให้กับเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามจำหน่ายให้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

ส่วนข้อกำหนดอื่นๆที่ภาคประชาสังคมเสนอแนะในระหว่างรอกรรมาธิการเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ… อยู่นี้ บางข้อเสนอ อาจอยู่นอกเหนือกว่าอำนาจทางกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจจะได้มีการรวบรวมและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.00 น.-16.30 น. ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

อ้างอิง :

  • นิด้าโพล,การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน 2565, วันที่อัพเดทล่าสุด : 19 มิถุนายน 2565 https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=579
  • ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด(ศศก.) บทสรุปผู้บริหาร โครงการวิจัย ศึกษาสถานการณ์ใช้กัญชาการแพทย์ในประเทศไทย (ระยะ ที่ 1) ช่วงปี พ.ศ. 2562 – 2563
    https://cads.in.th/cads/media/upload/1621391387-บทสรุปผู้บริหาร.pdf
  • กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ, ข่าวสานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง,2562 https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=5434

Credit : มติชน


Cann Society - Thailand