• 1,971

กระทรวงท่องเที่ยวฯ เตรียมชง! ตุลาคมนี้ เปิด 8 เส้นทางกัญชาทางการแพทย์ ชูท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รับมือช่วงโควิด-19 คาดหวังเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ เปิดเผยในรายงานพิเศษระบุว่า  “เส้นทางกัญชาทางการแพทย์” แบ่งเป็นพื้นที่ใน 8 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, ชลบุรี, สมุทรสงคราม, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน และพัทลุง ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จัดทำเป็นโครงการนำร่องและเร่งดำเนินการเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกมายืนยันว่าทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กำลังพิจารณาปัดฝุ่นเส้นทางท่องเที่ยวกัญชาและกัญชงเพื่อสุขภาพ หลังจากโควิด-19 คลี่คลายลง โดยจัดการท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ภายในประเทศ

“การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะเป็นการเดินทางไปดูว่าเมื่อมีกัญชาถูกกฎหมายแล้ว การนำไปใช้ทางการแพทย์ทำอะไรบ้าง รักษาอะไรได้บ้าง ซึ่งจะมีทัวร์พาไปเที่ยว ทั้งแหล่งปลูก และโรงพยาบาลทีเอากัญชามาผลิตเป็นยาแผนไทย รวมทั้งมีโฮมสเตย์ให้บริการ” นายพิพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ “เส้นทางกัญชาทางการแพทย์” เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีการดำเนินการตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โครงการดังกล่าวหยุดชะงัก แต่ในพื้นที่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน รวมถึงนักธุรกิจในแวดวงกัญชากัญชง ยังคงพัฒนากัญชากัญชง เดินหน้ากัญชากัญชงทางการแพทย์ และเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง

นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์
  • “ตลาดกัญชา” ไทยโตกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท

“ตลาดกัญชา”ที่ถูกกฎหมาย ขณะนี้มีมูลค่ากว่า 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5 แสนล้านบาท เติบโตมากกว่า 17% โดยกัญชาในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพสร้างรายได้สูงกว่า 70% ของมูลค่าทั้งหมด

ขณะที่รายงานของ The Global Cannabis Report โดย Prohibition Partners คาดการณ์ว่ามูลค่า“ตลาดกัญชา ”ทั่วโลกในปี 2567 จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ 60% และอีก 40% เป็น ตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ

  • “โนนมาลัยโมเดล” กัญชาบ้านละ 6 ต้น

โดยประเทศไทย นั้น ได้มีการคาดการณ์ว่า“ตลาดกัญชา”จะเติบโตเป็น 661 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมและผลักดันให้ กัญชาและกัญชง เป็น Product Champion ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ยาแผนไทยผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

หลังจากที่กัญชากัญชงได้ถูกปลดล็อกออกจากยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุน กัญชากัญชง สู่การใช้ประโยชน์ พัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อาทิ “งานปลูกกัญชา 6 ต้น โนนมาลัยโมเดล” จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องมอบต้นกัญชาเพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์ รวมถึงส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวกัญชาในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ที่มีความพร้อม

นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ เล่าว่าโนนมาลัยโมเดล เป็นโครงการนำร่องในการมอบต้นกล้ากัญชา 6 ต้น ให้แก่วิสาหกิจชุมชน ภายใต้แนวคิดใช้กัญชาในครัวเรือนเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ให้ชาวบ้าน ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ประมาณ 10 หลังคาเรือน ปลูกบ้านละ 6 ต้น โดยนำผลผลิตส่วนช่อดอกส่งแก่ รพ.คูเมือง ซึ่งเป็นแหล่งแปรรูป ผลิตยา ของภาครัฐ ภายใต้การรับรองมาตรฐาน GMP ส่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อจ่ายให้ผู้ป่วยในปลายทาง โนนมาลัยโมเดล

“ตอนนี้ชาวบ้านได้มีการปลูกกัญชาและนำส่วนของช่อดอกมาส่งให้รพ.คูเมืองเรียบร้อยแล้ว โดยทางรพ.คูเมืองได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตยาต่างๆ เช่น น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น สูตร CBD ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง ยาศุขไสยาศน์ และยาทำลายพระสุเมรุ ชนิดแคปซูล รวมถึงมีการสนับสนุนยาจากกัญชาให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อใช้กับผู้ป่วยในคลินิกกัญชา ภายใต้ความร่วมมือกับ กรมการแพทย์แผนไทย อย. และสถาบันทางการแพทย์”นพ.กิตติ กล่าว

  • ขยายต้นแบบโมเดล 6 ต้นโนนมาลัย

ส่วน ที่เหลือ ใบ ลำต้น ราก นำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำพริกซู่ซ่า น้ำอ้อยหรรษา คุกกี้ม่วนกรุ๊บ และจิ้งหรีดลนลา เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้าน เป็นการสร้างอาชีพสร้างรายได้แก่คนในชุมชนต่อไป

นพ.กิตติ เล่าต่อว่าตอนนี้ครบฤดูกาลของกัญชาช่วงแรกแล้ว กำลังขับเคลื่อนการปลูกกัญชา 6 ต้น ไปในเขตพื้นที่ในจ.บุรีรัมย์ และจังหวัดพื้นที่เขต 8 เขต 9 รวมแล้วประมาณ 200 แห่ง คาดว่าอีก 2 เดือนจะได้เห็นกัญชาในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ทั้งนี้ การปลูกตามโมเดล 6 ต้น ที่โนนมาลัยจะเป็นปลูกกับวิสาหกิจชุมชนทั้งหมด และจะส่งช่อดอกให้ รพ.สต. ในพื้นที่ เพื่อใช้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกัน ส่วนที่เหลืออย่าง กิ่ง ก้าน ใบ ราก ต้น ชาวบ้านก็ใช้ประโยชน์ได้ ด้วยการนำไปสู่ธุรกิจ เช่น ลูกข้าว ทำเบเกอรี่ ร้านอาหาร เลี้ยงตั๊กแตน ทำเป็นโฮมสเตย์ และเส้นทางท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า บริการ ทำให้ชุมชนหมู่บ้านมีธุรกิจ มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป และมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการวิสาหกิจชุมชน จะร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เข้ามาให้ความรู้ในการปลูกกัญชา เพราะกัญชาเป็นพืชที่หากปลูกให้มีคุณภาพต้องมีการดูแล ซึ่งในส่วนของโมเดล 6 ต้น ที่โนนมาลัย 3 หมู่บ้าน 7 หลังคาเรือน แต่ละบ้านทำโมเดลรั้วไม้ไผ่ รั้วหล็ก ลงทุน 1,000-2,000 บาท ลงทุน 6 ต้นก่อน เนื่องจากเป็นงานวิจัยระยะแรก จะมีการนำกระถางดิน 3 รูปแบบมาเปรียบเทียบกัน เช่น ดินที่ เพลา เพลิน ดินภูเขาไฟ และที่บ้านของเขาจะได้รู้ว่าดินไหนปลูกดี ซึ่งที่ออกแบบปลูกในครัวเรือนเป็น 6 ต้น เพื่อ 2 ประการ คือ 1.ปลูกใช้เอง ในส่วนใบ ราก ลำต้น เช่น ทำยาประคบซึ่งมีในตำรับยาโบราณ มีสารที่ลดการอักเสบ

  • หลังโควิด เปิด“เส้นทางกัญชากัญชง”

กัญชากัญชง กำหนดที่สารสำคัญเป็นหลัก โดยแยกที่ THC ทั้งใบ รากต้น ถ้าน้อยกว่า 1%คือ กัญชง มากกว่า 1%คือ กัญชา ถ้าใบรับรองว่า มีสาร THC มากกว่า 1%จะนำเข้าไม่ได้ แต่ถ้าเขียนว่า 0.6-0.8%สามารถนำเข้าได้  ส่วนถ้าเป็นสารสกัด ต้องมีค่า THC น้อยกว่า 0.2% ส่วนที่มี THC จะเอาไปให้หน่วยงานรัฐ ถอดสารออก ให้เหลือแต่ CBD ไปด้านสู่เครื่องสำอาง อาหาร สมุนไพรแทน

นพ.กิตติ กล่าวตอนนี้กัญชากัญชง ได้รับความนิยมอย่างมากจากในวงการแพทย์ และเชิงพาณิชย์ รวมถึงการท่องเที่ยว มีการวางแผนการท่องเที่ยวกัญชากัญชง หลังโควิด-19 ในเขตพื้นที่จ.บุรีรัมย์ เขต 8 เขต 9 อย่างแน่นอน โดยไม่ใช่เป็นการทำงานของภาครัฐอย่างเดียว แต่วิสาหกิจชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วม ขณะนี้มีการปลดล็อค จัดระเบียบหลายเรื่อง เพื่อทำให้การเส้นทางท่องเที่ยวกัญชากัญชง ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นอกจากทำให้ผู้มาท่องเที่ยวได้เรียนรู้เข้าใจเกี่ยวกับกัญชากัญชงแล้ว ยังได้ซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชงร่วมด้วย มีราคาอ้างอิงชัดเจน

คุณประณัย สายชมภู ผู้บริหาร เพ ลาเพลิน จ.บุรีรัมย์
  • “เพ ลา เพลิน” ธุรกิจกัญชาครบวงจร

ด้าน ปอนด์ นายประณัย สายชมภู ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท เล่าว่า แม้จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่เพ ลา เพลิน ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการต่างๆเกี่ยวกับกัญชากัญชง ไม่ว่าจะเป็น ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ รพ.คูเมือง  รพ.สต. องค์กรเภสัชกรรม และธุรกิจภาคอุตสาหกรรมกัญชง กัญชงทางการแพทย์ และเชิงพาณิชย์ รวมถึงโครงการท่องเที่ยวเพ ลา เพลิน

โดยในส่วนของการดำเนินการกัญชาทางการแพทย์น ได้มีการพัฒนาส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำ การปลูก กลางน้ำ และปลายน้ำ นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ขายมากมาย ทำให้ชาววิสาหกิจชุมชนต่างๆ มีงานทำ มีรายได้มากขึ้น

  • เปิดเส้นทางท่องเที่ยวกัญชาฯ 15 ต.ค.นี้

“กัญชา เป็นพืชเศรษฐกิจได้ ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องมีปลดล็อกข้อจำกัด ให้สามารถนำส่วนอื่นๆ มาใช้ทางพาณิชย์มากกว่านี้ เพราะตอนนี้กัญชาใช้ได้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้นทั้งที่ทุกส่วนของกัญชาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เหมือนเราปลูกต้นกล้วยแต่ใช้ได้เพียงใบ ส่วนอื่นๆ ที่ใช้ได้กลับนำไปทำอย่างอื่นที่ทำให้มูลค่าไม่ได้มากและไปใช้เชิงพาณิชย์มากไม่ได้ แตกต่างจากกัญชง”นายประณัย กล่าว

ตอนนี้ทำให้กลุ่มเพ ลา เพลิน และภาคประกอบการต่างๆ ตั้งแต่เกษตรกร นักธุรกิจ ได้ร่วมตัวกันภายใต้สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ขับเคลื่อนกัญชงสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของเพ ลา เพลิน ได้ปรับสถานที่ต่างๆ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวกัญชากัญชง ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่จะเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนให้มากขึ้น “เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการหารือร่วมกับ หารือ ททท. ในการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวกัญชากัญชง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการในวันที่ 15 ต.ค.นี้

แต่ทั้งนี้ ก็ได้มีการเสนอว่าก่อนจะเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ควรจะมีการสร้างความเข้าใจทั้งนักท่องเที่ยว และชาวบ้านที่จะเปิดเส้นทางดังกล่าว เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่าคนเข้าใจเรื่องกัญชากัญชง และใช้สินค้าผลิตภัณฑ์จากกัญชากัญชง หรือสนใจเรื่องนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ยังไม่ได้แพร่หลายอย่างที่รัฐบาลอยากให้เกิดจริงๆ และส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ แยกแยะไม่ออก ไม่แน่ชัดว่ากัญชากัญชงมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ดังนั้น ควรจะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชากัญชง และอยากให้ทุกคนพร้อมสนับสนุนผลักดันให้กัญชากัญชงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศจริงๆ” นายประณัย เล่า


ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/news/959910


Cann Society - Thailand