• 1,541

สธ. เดินหน้าโครงการกัญชา 6 ต้น ตั้งเป้า 5,000 ครัวเรือน สิ้นปี 64

ถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขจะมีภารกิจที่สำคัญในการควบคุมการระบาดของโควิด 19 เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับนโยบายกัญชาทางการแพทย์เช่นเดิม โดยเฉพาะโครงการกัญชา 6 ต้น ที่เป็นความหวังของพี่น้องประชาชนที่จะมีรายได้จากการปลูกกัญชา ด้วยต้นทุนที่ไม่แพง โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางไปเปิดโครงการกัญชา 6 ต้นแห่งแรกที่โนนมาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมการแพทย์แผนไทย และสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

จากการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ โดย ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานการประชุม ได้นำนโยบายดังกล่าวมาพูดคุยกัน โดยมีการถอดบทเรียนจากโนนมาลัย ที่มีเป้าหมายหลักคือ ให้มีแนวทางในการทำงานที่ชัดเจน ไม่ซับซ้อนและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ พร้อมตั้งเป้า 5,000 ครัวเรือนที่ได้ปลูกกัญชา 6 ต้นภายในปี 2564

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 ได้เล่าถึงการดำเนินงานกัญชา 6 ต้นว่า “เขตสุขภาพที่ 8 ทำงานโดยวางภาพใหญ่ก่อน ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง คืออะไร จุดเด่นของเขตสุขภาพที่ 8 คืออะไรที่ จะเป็นแต้มต่อในการพัฒนา แล้วดูว่าเรามีภาคีเครือข่ายอะไรมาช่วยได้ โดยจุดเด่นคือมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสกลนคร , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ สกลนคร , โรงพยาบาลมะเร็ง อุดรธานี ให้ความรู้วิชาการการปลูกและธนาคารต้นกล้า โดยเริ่มต้นความสำคัญกับชาวบ้าน เพราะเป็นนโยบายหลักที่ต้องการให้ประโยชน์ลงสู่พื้นที่ เรามีเป้าเกษตรกรกว่า 5,000 ครัวเรือนจะได้เข้าร่วมโครงการกัญชา 6 ต้น

ซึ่งตอนนี้เรากำลังเขียนโครงการร่วมกับวิสาหกิจชุมชนโดยแบ่งเป็น 2 เฟส และส่งคำขอไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าวิสาหกิจจะเริ่มปลูกได้ไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยวางแผนส่งช่อดอกให้กับสถานพยาบาลในการผลิตยากัญชา เช่น สูตรท้องถิ่น ยาขมิ้นทอง มีการศึกษาวิจัยรองรับ ส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติดก็นำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ และวางแผนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวภายในเขตสุขภาพ หากเราฉีดวัคซีนกันได้มาก เราก็คงเปิดพื้นที่ให้คนได้มาเยี่ยมชมกัญชาในเขตสุขภาพของเรา”

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 9 ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “หลังจากที่เขตสุขภาพที่ 9 เริ่มดำเนินการโครงการ 6 ต้น ที่บ้านโนนมาลัย อำเภอคูเมือง เราก็มีทีมลงไปในพื้นที่ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้าน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ที่ผสมผสานทั้งองค์ความรู้ทางการแพทย์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญสุดคือ รูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้จากพืชเศรษฐกิจ ดังนั้นเราจึงคิดร่วมกันว่าเราต้องทำ platform ให้ประชาชนที่ต้องการปลูกกัญชา โดยเรียนรู้จากโนนมาลัย อะไรคือ ข้อดี ข้อจำกัด แล้วเอามาปรับส่งต่อให้เขตสุขภาพอื่นๆ ไปทำ ในเดือนนี้เราเริ่มวางแผนจะขยายต่อไปอีก 10 อำเภอ จำนวนกลุ่มเป้าหมายกว่า 200 ครอบครัว ในการดำเนินการนอกจากประโยชน์ด้านการแพทย์แล้ว เราสามารถช่วยเกษตรกรของเราให้ไปสร้างรายได้จากส่วนที่มิใช่ยาเสพติด เช่น ใบ ราก ต้น ยกตัวอย่างตอนนี้ความต้องการยาในเขตสุขภาพที่ 9 ต้องการักษาโรคในกลุ่มต่างๆ ตามแนวทาง Service Plan โดยต้องการ ยาสูตร CBD , สูตร Balance 1:1 , ตำรับยาแผนไทย แล้วส่งเสริมเกษตรกรปลูกเหมาะสมกับความต้องการใช้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งด้านการแพทย์ละด้านเศรษฐกิจ”

นอกเหนือจากเขตสุขภาพทั้งสองแล้ว ล่าสุดนพ. ภูวเดช สุระโคตร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เชิญ ผู้แทนเขตสุขภาพ 13 แห่งร่วมหารือ แนวทางการใช้ยากัญชาทางการแพทย์ตาม Service Plan ของเขตสุขภาพ รวมถึงการผลิตยากัญชาในโรงพยาบาล GMP ซึ่งจะสนับสนุนให้ต้นน้ำวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาสนับสนุนได้อย่างเหมาะสม



Cann Society - Thailand