• 717

หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 บางส่วน

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จับมือภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้การนำส่วนประกอบของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด มาใช้ประโยชน์ เตรียมต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมยา อาหาร สมุนไพร ยานยนตร์และสิ่งทอ ภายหลังจากกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 บางส่วน โดยช่อดอกและเมล็ดกัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษ

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00 น. ที่บริเวณรอบอาคารพิพิธภัณฑ์การสาธารณสุขและการแพทย์ไทยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด กิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ การนำส่วนประกอบของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด มาใช้ประโยชน์ โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ภาคีเครือข่ายจัดงานและประชาชนที่ให้ความสนใจร่วมในงานดังกล่าว

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ดร.สาธิต กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 ที่มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แค่บางส่วน โดยช่อดอกและเมล็ดกัญชา ยังเป็นยาเสพติดให้โทษ ทั้งนี้ เนื่องจากตามอนุสัญญายาเสพติด ระหว่างประเทศยังควบคุมเป็นยาเสพติด แต่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และส่วนของกัญชาที่ปลดล็อกแล้วสามารถนำไปผลิตเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆได้ โดยผู้ที่จะนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปใช้จะต้องนำมาจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูก สกัด และผลิตเท่านั้

สำหรับขั้นตอนการปลูก สกัด และผลิต ทั้งหมดยังต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ระบุผู้มีคุณสมบัติขออนุญาต คือ หน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา เกษตกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐตามเงื่อนไข และการนำเข้าวัตถุหรือสารของส่วนของกัญชานั้นให้นำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้งของกัญชา ในส่วนองค์ประกอบของกัญชาที่ปลดล็อกแล้ว ประกอบด้วยส่วนของ ใบ กิ่ง ก้าน และ ราก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ทางการแพทย์ ศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์ เช่น ยา อาหาร สมุนไพร เครื่องสำอาง ในส่วนของ เปลือก ลำต้น เส้นใย ใช้ศึกษาวิจัย นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สิ่งทอ ยานยนต์ กระดาษ เป็นต้น

ดร.สาธิต กล่าวต่อไปว่า ประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดได้ แต่ต้องมาจากผู้ได้รับอนุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายโดย ปรุงอาหารได้ ทำผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ โดยต้องใช้ส่วนวัตุดิบกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด และต้องมาจากสถานที่ปลูกภายในประเทศที่ได้รับการอนุญาตแล้วเท่านั้น สามารถทำใช้เองได้ในครัวเรือน เช่น ลูกประคบสด หรือ ถ้าจะผลิตเพื่อจำหน่าย ต้องขออนุญาภายใต้กฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น เช่น พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง

ทางด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้การนำส่วนประกอบของกัญชาที่ไม่ใช่ ยาเสพติดมาใช้ประโยชน์ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแผยแพร่องค์ความรู้การนำส่วนประกอบของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดมาใช้ประโยชน์ เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมมือกันจัดกิจกรรมขึ้นมา สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การเสวนา การใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด การเสวนา การนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการนำกัญชามาปรุงอาหาร และพบกับบูธนิทรรศการ ร้านค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพตลอดงาน งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 – 16.30 น. เป็นต้นไป

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

Cann Society - Thailand