• 2,327

รองเลขาฯ อย. แจงข้อสงสัยและขั้นตอนการขออนุญาตปลูกกัญชง เตือน อย่าหลงเชื่อกลุ่มบุคคลชักชวนสมัครสมาชิก ซื้อหุ้น เพื่อรับเมล็ดพันธุ์ไปปลูกและรับซื้อผลผลิต ผู้นำเข้าและจำหน่ายเม็ดพันธุ์ต้องมีใบอนุญาตจาก อย.

6 ก.พ.64 เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

ปรากฏว่า มีประชาชน เกษตรกร และทุกภาคส่วนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ขอรับคำปรึกษาทั่วประเทศกว่า 2,000 คน และมีประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้ 

  1. การยื่นคำขออนุญาตปลูกกัญชงสามารถยื่น ณ สถานที่ปลูกตั้งอยู่ หากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ อย. หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงเพื่อปลูก หรือศึกษาวิจัยให้ยื่นคำขอที่ อย. 
  2. เอกสารแสดงสิทธิ์การครอบครองหรือใช้ประโยชน์ที่ดินที่ใช้ประกอบการยื่นคำขอ เช่น โฉนด, น.ส.3, สัญญาเช่า หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ ในกรณีใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐ เช่น ที่ราชพัสดุ หรือที่ดิน ส.ป.ก. ให้ใช้หนังสือแสดงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของที่ดินนั้น
  3. ระยะเวลาพิจารณาอนุญาตตามคู่มือประชาชน สำหรับกรณีปลูก สูงสุดไม่เกิน 135 วัน และสำหรับกรณีนำเข้า สูงสุดไม่เกิน 75 วัน  ทั้งนี้ อย. จะเร่งการอนุญาตให้เร็วที่สุด 

สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกกัญชงแต่ยังหาคู่ธุรกิจไม่ได้ อย. จะประสานจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ปลูกและผู้รับซื้อ เช่น โรงสกัด โรงงานแปรรูป ผู้รับซื้อสารสกัดไปผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้ที่สนใจลงชื่อได้ที่ อย. และสสจ. ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ อย. อยู่ระหว่างประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อจัดตั้งตลาดกลางกัญชา กัญชง ให้เป็นศูนย์กลางรับซื้อรองรับและกระจายผลผลิตกัญชา กัญชงจากเกษตรกรรายย่อยส่งไปยังภาคอุตสาหกรรม ทั่วประเทศต่อไป 


Cann Society - Thailand