• 633

“ปานเทพ” โต้กรณีกลุ่มแพทย์แผนปัจจุบันคัดค้าน “กัญชาเสรี” แจง 10 เหตุผล ที่ถอยหลังไม่ได้ เพราะติดยากและมีประโยชน์กว่า “เหล้าและบุหรี่” หลายเท่า

วันที่ 30 มิ.ย. 2565 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ระบุว่า

ตามที่มีกลุ่มภาคประชาชนบางกลุ่ม ตลอดจนแพทย์แผนปัจจุบันและเภสัชกรบางกลุ่ม ได้แสดงความห่วงใยในมิติต่างๆ ต่อนโยบายกัญชา บางกรณีมีเป้าหมายเดียวกัน บางกรณีเป็นความเห็นต่าง และหลายกรณีเป็นความเข้าใจผิด จึงขอนำเสนอในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

ประการ 1 การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดนั้น เกิดขึ้นโดยความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในการประชุมร่วมของที่ประชุมสมาชิกรัฐสภา ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา โดยได้ลงมติเห็นชอบกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งไม่ปรากฏชื่อ “กัญชา” อยู่ในประเภทยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 อีกต่อไป เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ด้วยคะแนนอย่างท่วมท้นถึง 467 เสียง โดย “ไม่มีผู้คัดค้านเลยแม้แต่คนเดียว”


ประการที่ 2 การที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ต่อมาได้พิจารณาให้กัญชาออกจากยาเสพติดเช่นกัน คงเหลือไว้แต่สารสกัดที่มี THC (สารที่ทำให้เมา) เกินกว่า ร้อยละ 0.2 เป็นยาเสพติดนั้น ก็เพราะนอกจากจะเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ที่มีหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 แล้ว ความเป็นจริงจากงานวิจัยจำนวนมาก ยังพบว่า “กัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่อย่างมาก”

แต่เหล้าและบุหรี่ซึ่งมีโทษต่อสุขภาพอย่างมหาศาล กลับไม่ใช่ยาเสพติด และยังสามารถหาซื้อได้โดยง่าย การกำหนดให้การควบคุมกัญชาอย่างเข้มข้นในระดับยาเสพติด จึงขัดแย้งกับความจริงอย่างสิ้นเชิง แต่ในขณะนี้กลับมีการโจมตีกัญชายิ่งกว่าเหล้าและบุหรี่เสียอีก

นอกจากนั้น กัญชามีประโยชน์ไม่เพียงทางการแพทย์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกัญชายังช่วยประชาชนในการดูแลสุขภาพตัวเองในฐานะเป็นสมุนไพรในครอบครัวที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ได้แก่ ช่วยการนอนหลับ เจริญอาหาร ลดการอักเสบ ลดการเกร็ง ลดอาการปวด ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ลดค่าใช้จ่ายได้ และจะช่วยลดภาระการผูกขาดผลประโยชน์จากบริษัทยาข้ามชาติด้วย


ประการที่ 3 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนได้เฝ้ารอการใช้กัญชาทางการแพทย์มาอย่างยาวนาน แต่กลับปรากฏว่า ยังคงมี “อคติทางการแพทย์” ที่ปฏิเสธการจ่ายยากัญชาหรือน้ำมันกัญชาให้กับคนไข้ และยังมีแพทย์และเภสัชกรบางกลุ่มที่ต่อต้านกัญชาในขณะนี้มี “ผลประโยชน์หรือส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทยา” และบริษัทยาข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มยาแก้ปวด

ดังปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์ “น้ำมันกัญชา” ของภาครัฐจ่ายให้กับประชาชนไปครึ่งหนึ่ง แต่หมดอายุไปกว่าครึ่ง อีกทั้งยังมีขั้นตอนที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงน้ำมันกัญชาได้ยาก ไม่ครอบคลุมทั้งตำรับและข้อบ่งใช้ตามที่ประชาชนต้องการ ทำให้ประชาชนต้องใช้กัญชาใต้ดินที่มีอันตรายจากสารพิษและราคาแพง บ้างต้องปลูกกัญชาเพื่อใช้เอง บ้างก็สกัดเองเบื้องต้นเพื่อใช้ในครอบครัวเป็นจำนวนมาก
ดังปรากฏตามผลสำรวจของนิด้าโพล ว่า มีประชาชนมากถึงร้อยละ 32.98 เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชามาแล้ว ดังนั้น จำนวนผลข้างเคียงที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ จึงถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ที่มีประสบการณ์ในการใช้กัญชาทั้งประเทศ

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ควรปล่อยให้ประชาชนจำนวนมากเหล่านี้ ถูกเลือกปฏิบัติในการถูกจับกุมนำไปติดคุกในการใช้กัญชาในครัวเรือน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่การเข้าถึงของประชาชนในทุกครัวเรือน เพื่อป้องกันการผูกขาดของบริษัทยา หรือกัญชาเอาไว้กับกลุ่มทุนบริษัทยา กลุ่มทุนทางการแพทย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง


ประการที่ 4 การที่มีสุญญากาศทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ปรากฏว่า ประชาชนเข้าใช้งานระบบในแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ขององค์การอาหารและยา ในเรื่องการจดแจ้งการปลูกกัญชาถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2565 มากกว่า 42 ล้านครั้ง และมีผู้ที่ลงทะเบียนในการจดแจ้งเพื่อการปลูกมากถึง 944,717 คน โดยในคนกลุ่มนี้มีการใช้กัญชาอยู่แล้วหรือปลูกอยู่แล้วจำนวนมาก และหากไม่มีพื้นที่สุญญากาศทางกฎหมายเลย กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่มีทางปรากฏตัวให้เห็นสภาพข้อเท็จจริงดังที่ปรากฏทั้งหมดเวลานี้

สอดคล้องกับผลสำรวจของนิด้าโพล ว่า ประชาชนมากถึงร้อยละ 58.55 เห็นด้วยมาก และค่อนข้างเห็นด้วยในการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ทำให้การปลูก เสพ สูบ บริโภค สามารถทำได้ถูกกฎหมาย ย่อมแสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจในเรื่องประโยชน์ที่จะได้รับจากกัญชาเป็นอย่างดีแล้ว และไม่สามารถปิดกั้นหรือผูกขาดอยู่กับภาครัฐหรือวงการธุรกิจยาแต่เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป


ประการที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของประชาชน และมีจุดยืนอย่างชัดเจนมาโดยตลอด ตั้งแต่ต้นในเรื่องนโยบายกัญชา คือ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพ และเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่วนการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการนั้น ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข
หากแต่มีข้อเสนอจากภาคประชาชนกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวบางกลุ่ม ที่มีความประสงค์ที่จะต้องการให้เปิดช่องการใช้กัญชาเพื่อ “นันทนาการอย่างมีการควบคุม” ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…..ซึ่งจะต้องรับฟังเสียงสะท้อนและความต้องการของสังคมอย่างรอบด้านด้วย


ประการที่ 6 กระทรวงสาธารณสุขได้จำกัดการเข้าถึงกัญชาสำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีมาตั้งแต่แรกแล้ว และยังมีข้อห้ามในสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร

โดยผู้ประกอบการร้านอาหาร จะต้องมีการติดป้ายทั้งหน้าร้านและเมนูอาหาร โดยอาศัยใต้ประกาศของกรมอนามัย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 อีกทั้งยังมีการควบคุมทุกผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) ให้มีความปลอดภัยสูงสำหรับผู้บริโภค

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 ออกความตามพระราชบัญญัติอาหาร 2522 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ยังไม่อนุญาตให้มีการใช้ช่อดอกกัญชาในการปรุงอาหาร

นอกจากนี้ ยังได้อาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กำหนดให้ กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามจำหน่ายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร และห้ามสูบในที่สาธารณะ

จึงเห็นได้ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มีกฎกติกาอยู่แล้ว ดังนั้น หากยังมีผู้กระทำความผิดก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป ไม่เกี่ยวกับว่าในช่วงสุญญากาศนี้ไม่มีกฎกติกาแต่ประการใด หรือต้องการออกพระราชกำหนดแต่ประการใด


ประการที่ 7 แม้กระทรวงสาธารณสุขจะไม่เห็นด้วยกับการสูบกัญชา เนื่องด้วยมีสารพิษที่ได้จากการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในระบบทางเดินหายใจ แต่เนื่องจากกัญชาติดได้ยากกว่าบุหรี่ และมีโทษต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ จึงย่อมไม่มีเหตุผลที่จะลิดรอนสิทธิของประชาชนให้เข้มข้นกว่าบุหรี่ได้

นอกจากนั้น ยังมีผู้ที่สูบกัญชาจำนวนมาก เป็นไปเพื่อเพิ่มคุณภาพการนอน ผ่อนคลายความเครียด หรือเพื่อเร่งการหยุดปวด หรือคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ โดยอาจไม่ใช่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านนันทนาการเสมอไป อีกทั้งปัจจุบันการสูบกัญชาในที่สาธารณะก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว จึงเห็นว่าการสูบครัวเรือนหรือสูบในที่ปิด ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความรำคาญหรือความวุ่นวายในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ย่อมเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของปัจเจกบุคคลที่ไม่ต่างจากบุหรี่

ส่วนการปลูกกัญชาในบ้านและเป็นห่วงเยาวชนในบ้านนั้น ก็ไม่ต่างจากมีสิ่งอื่นในบ้านที่มีทั้งประโยชน์และโทษอยู่คู่กันเสมอ เช่น มีด ไฟแช็ก ไม้ขีดไฟ แอลกอฮอล์ อินเทอร์เน็ต ยา สมุนไพรทุกชนิด ฯลฯ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลว่าจะต้องกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกจากบ้านเพราะมีข้อห่วงใยอยู่ด้วย
ซึ่งไม่ต่างจากกัญชา เพราะแม้แต่บุหรี่และเหล้า ซึ่งติดง่ายกว่าและมีแต่โทษต่อสุขภาพเลวร้ายยิ่งกว่ากัญชา ก็ยังสามารถนำเข้าในบ้านได้ โดยไม่ต้องมีกฎหมายใดๆ ห้าม ดังนั้น สาระสำคัญในเรื่องนี้ จึงไม่ใช่ที่ต้นกัญชา หากแต่เป็นความรู้และกติกาในครอบครัวต่างหากที่จะต้องเป็นผู้ดูแลสมาชิกในครอบครัว

สังคมไทยแทนที่จะเห็นแต่ข้อเสียในช่วงสุญญากาศทางกฎหมายของกัญชา ก็ควรจะใช้ประโยชน์เพื่อถอดบทเรียนจากการใช้กัญชาในช่วงเวลานี้ให้คุ้มค่า ดังเช่น การค้าขายและการใช้กัญชาบนถนนข้าวสาร ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจจำนวนมาก และได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ สร้างความหวังในการทำมาหากินให้ผู้ประกอบการย่านนั้นจำนวนมากว่ามีข้อดีข้อเสีย จุดอ่อน จุดแข็ง ประโยชน์และโทษมากน้อยเพียงใด
หรือแม้แต่เปิดให้ผู้ประกอบการถนนข้าวสารขออนุญาตให้เป็นพื้นที่สูบกัญชาในที่สาธารณะเป็นแซนบอกซ์ในเวลาอันจำกัด ทั้งนี้ เพื่อถอดบทเรียนมากำหนดทิศทางในการบริหารจัดการอย่างไรต่อไปให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุดหรือไม่?

และถ้าเรายอมรับความมีอยู่จริงนี้ การให้ความรู้กับประชาชนก็ควรจะเกิดขึ้นรอบด้านไม่ใช่หรือ รวมทั้งข้อควรระวังหรือการลดผลเสียจากการสูบกัญชาเพื่อลดภาระต่อสังคมและสถานพยาบาลต่อไปในภายภาคหน้าจะดีกว่าหรือไม่?


ประการที่ 8 แม้จะมีร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ของพรรคภูมิใจไทย จะเข้ามาพิจารณาพร้อมกับ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง พ.ศ… แต่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ เห็นว่า ควรใช้ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….. ของพรรคภูมิใจไทย เป็นร่างหลัก แต่ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะที่มีความหลากหลายและรอบด้านในที่ประชุม
รวมทั้งรับฟังความเห็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง พ.ศ… เองด้วย รวมทั้งยังมีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่แสดงความเห็นและความห่วงใยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดกฎกติการเกี่ยวกับกัญชาให้มีความถูกต้องเหมาะสมกับบริบททางสังคมไทยต่อไป


ประการที่ 9 แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องมีการรายงานผลกระทบต่อสังคมในช่วงสุญญากาศอย่างรอบด้าน แต่ความจริงสังคมยังต้องมีข้อมูลอย่างถูกต้องโดยปราศจากอคติในการนำเสนอข้อมูลด้วย เช่น กัญชาใต้ดินมีอยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนปลดล็อกกัญชา เด็กเยาวชนที่นำมาใช้กัญชานั้น มีกฎหมายห้ามอยู่แล้ว และจำเป็นต้องลงโทษผู้กระทำความผิดในการจำหน่ายกัญชาให้เด็กและเยาวชน
กรณีศึกษาผลกระทบของผู้ที่เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการต่างๆ แล้วอ้างว่าใช้กัญชา เพราะเห็นว่ากัญชาไม่ได้เป็นยาเสพติดแล้ว ทั้งๆ ความจริงอาจมีการใช้ยาเสพติดอย่างอื่น หรือผสมยาเสพติดอย่างอื่น หรือแแม้แต่ไม่ได้ใช้กัญชาเลยโดยไม่มีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ให้ได้ข้อเท็จจริง ตลอดจนกรณีศึกษาของผู้ที่เป็นจิตเวชอยู่แล้ว ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวกับกัญชาเลย

อคติทางการแพทย์ที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นไม่สามารถทำให้สังคมได้ความจริงได้ เพราะการหาความจริงนั้นจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ว่า มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่ทำให้กัญชามาอยู่บนดินนั้นได้ประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้กัญชาอย่างไร และมีจำนวนเท่าไหร่ สังคมจึงจะได้รับความจริงอย่างถูกต้องและเป็นธรรมในการตัดสินใจต่อไป

โดยเฉพาะในเวลานี้การสร้างกระแสความหวาดกลัวแบบเหวี่ยงแหนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อ “กัญชง” รวมทั้งน้ำมันซีบีดีซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยปราศจากสาร THC และจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับประเทศด้วย


ประการที่ 10 การที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….มีความหลากหลายนั้น ย่อมเป็นประโยชน์กว่าการเรียกร้องจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือจากฝ่ายรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว และมีเรื่องที่ต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักหลายด้าน เช่น ความเหลื่อมล้ำในธุรกิจกัญชากัญชงระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่
การถ่วงดุลระหว่างภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกับภาคสังคม การถ่วงดุลระหว่างมาตรฐานการควบคุมกับการผูกขาดของกลุ่มทุน ฯลฯ ตัวอย่างเหล่านี้คณะกรรมาธิการขอน้อมรับความเห็นที่แตกต่างในสังคมเหล่านี้มาประมวลรอบด้านและตัดสินใจให้ได้โดยเร็วต่อไป


ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกและกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร
30 มิถุนายน 2565
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/5392172387509353/

Credit : https://mgronline.com/politics/detail/9650000062438


Cann Society - Thailand